24
Nov
กลุ่มเกษตรกรทำนา นาโส่ (ชมรมรักษ์ธรรมชาติ)
กลุ่มเกษตรทำนานาโส่ เกิดขึ้นเนื่องด้วยเกษตรกรในพื้นที่ต้องการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแบบแผนการผลิตทางการเกษตรให้เป็นเกษตรกรรมยั่งยืนที่มีการผลิตหลากหลายและไม่ใช้สารเคมี สร้างกระบวน การกลุ่มเพื่อการเรียนรู้สู่การแก้ไขปัญหาของชุมชน เป็นการพึ่งพาตัวเองในขั้นต้นรวมถึงเป็นการช่วยเหลือกันของเกษตรกรในพื้นที่จากการรวมตัวกันตั้งแต่ในอตีดจนถึงปัจจุบัน
ประวัติความเป็นมา : กลุ่มเกษตรกรทำนานาโส่ มีอายุในการก่อตั้ง 36 ปี ตั้งแต่ปี 2519 – 2555
กลุ่มเกษตรกรทำนา นาโส่ จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเมื่อ ๑๕ มีนาคม ๒๕๑๙ ทะเบียนเลขที่ ยส.๓/๒๕๑๙ ตามประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ ๑๔๑ ประกาศ ณ วันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๑๕ ได้ดำเนินการในรูปแบบคณะกรรมการ นำสินค้าปัจจัยด้านการผลิตทางการเกษตร(ปุ๋ยเคมี) มาบริการให้กับสมาชิก แต่ประสบปัญหาขาดทุน ไม่มีการดำเนินกิจกรรมต่อจนกระทั่งกลุ่มผู้นำไม่เป็นทางการ (ที่ประกอบด้วยคณะกรรมการกลุ่มเกษตรกรทำนา นาโส่ ส่วนหนึ่ง) โสเหล่กัน เพื่อระดมความคิดเห็นและรวมกลุ่มกันแก้ปัญหาเรื่องสุขภาพ สิ่งแวดล้อมและการผลิตปี ๒๕๒๓ ผู้นำกลุ่มเห็นว่าการตั้งกองทุนร้านค้าจะช่วยให้ชาวบ้านเรียนรู้การช่วยเหลือกัน จึงได้ระดมทุนก่อตั้งเป็น “กองทุนร้านค้าหมู่บ้าน” เพื่อรวมกันซื้อรวมกันสินค้า บริหารจัดการในรูปกลุ่มชาวบ้าน ซึ่งต่อมาพัฒนาเป็น “กองทุนพัฒนาหมู่บ้าน” และดำเนินกิจกรรมการบริหารในรูปกลุ่มสืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน ๒๕๒๖ ก่อตั้ง “ชมรมหมอยาพื้นบ้านและผู้สนใจสมุนไพรอำเภอกุดชุม” เป็นที่รวมของหมอยาพื้นบ้าน พระสงฆ์ ครู พยาบาลและนักพัฒนาเอกชนร่วมกันทำงานมาโดยตลอด จนกระทั่งปี ๒๕๓๓ ได้จัดตั้งเป็น “ศูนย์พัฒนาวัตถุดิบสมุนไพรวัดท่าลาด” ดำเนินการด้านการผลิตวัตถุดิบและยาสมุนไพร
๒๕๓๓ มาซาโนบุ ฟูกูโอกะ นักเกษตรกรรมธรรมชาติชาวญี่ปุ่นได้
มาเยือนกุดชุมและบรรยายเรื่องเกษตรกรรมธรรมชาติ ซึ่งสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ชาวบ้านเป็นอย่างยิ่ง ทำให้เกิดการทำนาธรรมชาติขึ้น ในชุมชนบ้านโสกขุมปูนและขณะนั้นกระแสการบริโภคเพื่อสุขภาพ และการบริโภคที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมในสังคมไทยได้ตื่นตัว โครงการ สมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเองจึงประสานเชื่อมโยงกลุ่มผู้บริโภคในกรุงเทพมหานคร และผู้ผลิตที่กุดชุมเข้าเป็นเครือข่าย “ชมรมเพื่อนธรรมชาติ” เพื่อส่งเสริมและจัดจำหน่ายข้าวปลอดสารพิษปลอดสารเคมีแก่ผู้บริโภค เมื่อมีช่องทางตลาดก้าวเข้าสู่ธุรกิจชุมชน โรงสีข้าวจึงเกิดขึ้นกลุ่มผู้นำ ตระเวนหาความรู้โดยการดูงานตามโรงสี ต่างๆ ระดมทุนจากชาวบ้านการขายข้าวสารล่วงหน้าจากมูลนิธิเด็กและ โครงการสมุนไพรเพื่อพึ่งพาตนเองเพื่อก่อสร้างโรงสี เมื่อสร้างสำเร็จ กลุ่มผู้นำและสมาชิกพร้อมใจกันตั้งชื่อว่า “ชมรมรักษ์ธรรมชาติ” ทำงานร่วมกับกลุ่มเกษตรกรทำนา นาโส่
วัตถุประสงค์ของกลุ่มเกษตรกรทำนา นาโส่ (ชมรมรักษ์ธรรมชาติ)
- เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรทำนาโดยไม่ใช้สารพิษและสารเคมี ที่คำนึงถึงสุขภาพและความปลอดภัยทั้งผู้ผลิตผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม
- เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนระบบการผลิตที่หลากหลายสามารถพึ่งตนเองได้ ช่วยเหลือเกื้อกูลกันตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง
- เพื่อเป็นกลไกในการรับซื้อข้าวเปลือกและแปรรูปข้าวเปลือกจากชาวนาด้วยความเป็นธรรม
- เพื่อเป็นกิจกรรมที่เอื้อให้เกิดการเรียนรู้ในการทำงาน การบริหารจัดการธุรกิจและการแก้ไขปัญหาในชุมชน
- เพื่อส่งเสริมการรวมกลุ่มของชาวบ้าน อันเป็นปัจจัยที่ทำให้ชุมชนเข้มแข็งและพึ่งตนเองได้
- เพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูพันธุกรรมพื้นบ้าน
คณะกรรมการกลุ่มฯ
- นายมั่น สามสี ประธาน
- นายธวัช ทองน้อย รองประธาน
- นายสมหวัง ศรีมันตะ กรรมการ
- นายสมหมาย สามสี กรรมการ
- นายดาวเรือง พืชผล กรรมการ
- นายเลาะ ศรีมันตะ กรรมการ
- นางชุธิมา ม่วงมั่น กรรมการ/ผู้จัดการ
ปัจจุบัน กลุ่มเกษตรกรทำนานาโส่ (ชมรมรักษ์ธรรมชาติ)
มีสมาชิกผู้ถือหุ้น จำนวน 942 คน มีคณะกรรมการบริหาร 15 คน ที่ปรึกษา 6 คน มีคณะกรรมการดำเนินงาน ประกอบไปด้วย ฝ่ายส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืน ฝ่ายโรงสีข้าวชุมชน ธนาคารชุมชน และกองทุนสวัสดิการชุมชน
ฝ่ายส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืน
- ส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ เกษตรปลอดสารพิษ
- ส่งเสริมการเกษตรแบบผสมผสาน เกษตรกรรมยั่งยืน ความมั่นคงด้านอาหารและสุขภาพ
- ส่งเสริมการรวมกลุ่มเพื่อทำกิจกรรมพึ่งพาตนเองด้านปัจจัยการผลิต
- ส่งเสริมให้เกิดการอนุรักษ์ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ดิน น้ำ ป่า
- สร้างเกษตรกรต้นแบบในชุมชน
- จัดตลาดนัดสีเขียวในชุมชนเมืองเพื่อให้ผู้บริโภคได้ตระหนักถึงความปลอดภัยและความมั่นคงด้านอาหาร
ฝ่ายโรงสีข้าวชุมชน
- รับซื้อข้าวเปลือกจากสมาชิกและเกษตรกรในราคายุติธรรมและซื่อสัตย์ โปร่งใส เชื่อถือได้
- สร้างกระบวนการเรียนรู้ให้กับสมาชิกและคณะศึกษาดูงานทั้งในและต่างประเทศ
- ฟื้นฟูและอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงวัฒนธรรมประเพณีในท้องถิ่น เช่น ประเพณีสู่ขวัญข้าว เป็นต้น
- สร้างนวัตกรรมใหม่ๆในการผลิตและแปรรูปสินค้าเกษตร
- ประสานความร่วมมือระหว่างองค์กรเอกชนและหน่วยงานภาครัฐ
ธนาคารชุมชน
- ธนาคารชุมชน เป็นวิธีการระดมทุนภายในชุมชนที่เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านโดยเปิดบริการออมทรัพย์ให้กับสมาชิกที่เป็นเกษตรกรและที่ไม่ใช่เกษตรกรโดยคิดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากสูงกว่าธนาคารพาณิชย์ ร้อยละ 1 และนำเงินออกมาใช้เป็นทุนหมุนเวียน
กองทุนสวัสดิการชุมชน
- ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2536 โดยการจัดสรรกำไรของกิจการโรงสีเป็นทุนสาธารณประโยชน์ และในปี พ.ศ. 2541 ได้จัดตั้งคณะกรรมการกองทุนและได้ขอทุนจากโครงการต่างๆมาใช้ในการจัดสวัสดิการให้การช่วยเหลือและให้บริการแก่สมาชิก
ในปัจจุบันทางกลุ่มมีพื้นที่ส่วนกลางดำเนินการ : จำนวน 8 ไร่ 2 งาน ประกอบไปด้วย
- โรงสีข้าวกล้องและข้าวขาวขาวขนาด 60 ตัน/วัน
- ฉางเก็บข้าวเปลือกขนาด 500 ตันและ 1,500 ตัน
- เครื่องชั่งขนาด 40 ตัน
- อาคารสำนักงานและอาคารอเนกประสงค์
- รถบรรทุก 4 ล้อ
- รถบรรทุก 6 ล้อ
- รถตัก
- เครื่องบรรจุถุงระบบสายพาน
- เครื่องบรรจุถุงสุญญากาศ
- เครื่องยิงสี
- ลานตาก 5,000 ตารางเมตร
ปริมาณข้าวเปลือกที่กลุ่มสามารถรวบรวมได้ใน 1 ฤดูกาลผลิต
- หอมมะลิ105 : 2,000 ตัน/ปี
- ข้าวหอมนิล : 2 ตัน/ปี
- ข้าวมะลิแดง : 26 ตัน/ปี
ปริมาณข้าวสารที่กลุ่มสามารถผลิตได้ใน1ฤดูกาลผลิต
- หอมมะลิ105 : 1,300 ตัน/ปี (ข้าวสาร)
- ข้าวหอมนิล : 1 ตัน/ปี (ข้าวสาร)
- ข้าวมะลิแดง 16 ตัน/ปี(ข้าวสาร)
ผลิตภัณฑ์ของกลุ่ม (ชื่อแบรนด์สินค้า)
- ข้าวหอมมะลิ ตรา ทุ่งรวงทอง
- ข้าวกล้องหอมมะลิ ตรา ทุ่งรวงทอง
- ข้าวกล้องมะลิแดง ตรา ทุ่งรวงทอง
- ข้าวกล้องหอมนิล ตรา ทุ่งรวงทอง
- ข้าวกล้องสามสี ตรา ทุ่งรวงทอง
- น้ำมันรำข้าวหอมมะลิ
- อื่นๆ อาทิ ข้าวกล้องงอก ข้าวฮาง นมถั่วเหลือง น้ำข้าวกล้องงอก เป็นต้น
มาตรฐานเกษตรอินทรีย์
- มาตรฐานเกษตรอินทรีย์สากล ภายใต้การรับรองระบบงาน IFOAM
- มาตรฐานแฟร์เทรด ของ Fairtrade Labelling Organization สำหรับโครงการข้าวแฟร์เทรดเกษตรอินทรีย์ จาก FLO-Cert เยอรมัน